1984 : เรื่องราวสมมติที่(อาจ)เกิดขึ้นจริง


1984 : เรื่องราวสมมติที่(อาจ)เกิดขึ้นจริง
                                                                                                                                                             กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์


BIG BROTHER IS WATCHING YOU !

“พี่เบิ้มกำลังจับตาดูคุณ

1984 เป็นนวนิยายชิ้นสุดท้ายของจอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) นักประพันธ์ชาวอังกฤษซึ่งมีนามจริงว่าเอริค อาร์เธอร์ แบลร์ (Eric Arthur Blair) งานเขียนชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1949 (พ.ศ. 2492) สี่ปีหลังจากการตีพิมพ์นวนิยายที่เป็นที่รู้จักที่สุดของเขาอีกชิ้นหนึ่ง นั่นคือ Animal Farm และเป็นหนึ่งปีก่อนที่ตัวเขาเองจะเสียชีวิต

นวนิยายเรื่อง 1984 บรรยายถึงเรื่องราวสมมติที่ผู้เขียนจินตนาการว่าเกิดขึ้นไปปี 1984 อันเป็นอนาคตกาล คือราวๆสามสิบห้าปีนับจากหนังสือได้รับการตีพิมพ์ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการคาดการณ์ของออร์เวลล์จำนวนมากจะได้รับการพิสูจน์ในเวลาต่อมาว่าผิดพลาด แต่กระนั้น ผู้คนก็ยังคงอ่าน 1984 กันต่อไป เหตุใดเรื่องราวสมมติ--ที่ครั้งล่าสุดนี้ได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สมมติจึงยังคงได้รับการอ่านและพูดถึงยาวนานข้ามกาลเวลา มันได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ซึ่งออกฉายในปี 1984 ตามชื่อเรื่องและปีที่เรื่องราวสมมติขึ้น กระทั่งปัจจุบันความคิดเรื่อง Big Brother กลายมาเป็นรายการเรียลลิตี้โชว์ชื่อดัง ส่วนฮารูกิ มูราคามิก็นำ 1984 มาล้อโดยแต่งเป็นนิยาย 1Q84 เรื่องราวสมมติที่เต็มไปด้วยการคาดการณ์ผิดพลาดมากมายนี้มีดีอะไรถึงทำให้มันคงทนถาวรมาจนถึงปีที่หกสิบสาม และยังมีทีท่าว่าจะถูกอ่านต่อไปไม่รู้จบ

ไม่เพียงแต่ผู้อ่านทั่วไปที่สงสัย ผู้แปลวรรณกรรมเรื่องนี้ก็เช่นกัน ผู้แปล 1984 เป็นภาษาไทยมีสองท่านคือรัศมี เผ่าเหลืองทองและอำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงศ์ ในช่วงหนึ่งของคำนำฉบับพิมพ์ครั้งที่สาม (พ.ศ. 2555) นั้นรัศมีถึงกับกล่าวว่า “แปลกใจระคนดีใจ ที่ได้ทราบว่า 1984 ฉบับพิมพ์ครั้งที่สองหมดลงในเวลาไม่นานนัก ใครจะนึกว่านิยายการเมืองแห่งอนาคตที่แสนจะหดหู่เล่มนี้ ได้กลายเป็นหนังสือต้องอ่าน[1] สำหรับเมืองไทยในพุทธทศวรรษ 2550” และเมื่อพิจารณาถึงจังหวะเวลาที่งานชิ้นนี้ถูกเขียนที่อังกฤษ กระทั่งเริ่มเข้าสู่กระบวนการแปลเป็นไทย (พ.ศ. 2520) ถูกนำมาตีพิมพ์ซ้ำครั้งที่สอง (พ.ศ. 2551) พิมพ์ซ้ำครั้งที่สาม (พ.ศ. 2555) จนปัจจุบัน นวนิยายนี้ยังคงได้รับการพิมพ์ซ้ำอย่างต่อเนื่อง จนไม่ทราบแน่ชัดว่าในวันนี้ของปี พ.ศ. 2562 มันได้รับการพิมพ์เพิ่มไปอีกกี่ครั้งแล้ว

               ตัวเอกของ 1984 เป็นชายวัยกลางคนนาม “วินสตัน สมิธ” เขาทำงานให้กับ “กระทรวงแห่งความจริง” ในรัฐที่ชื่อ “โอชันเนีย” (Oceania) ซึ่งเป็นรัฐแบบเผด็จการที่รวบอำนาจเบ็ดเสร็จ ผ่านการปกครองโดยพรรคๆเดียวคือ “อิงซ็อค” (Ingsoc) ผู้นำสูงสุดคือ “พี่เบิ้ม” หรือ “big brother” ซึ่งรูปภาพใบหน้าของเขาปรากฏอยู่ทั่วทุกหัวระแหงในโอชันเนีย ประหนึ่งการจ้องมองดูทุกผู้คนอยู่ทุกขณะจิต การใช้ชีวิตในโอชันเนียล้วนเต็มไปด้วยพิธีกรรมมากมาย พิธีสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ “รายการความเกลียดสองนาที” ซึ่งประชาชนต้องมารวมตัวกันเพื่อดูเรื่องราวต่างๆที่พรรคอยากให้ดู สิ่งที่ทุกคนต้องดูเป็นประจำคือใบหน้าและเรื่องราวของ “เอ็มมานูเอล โกลด์สไตน์” บุคคลที่พรรคชูขึ้นศัตรูหมายเลขหนึ่งของโอชันเนีย เมื่อใดที่พิธีถูกจัดขึ้นผู้คนก็ต้องมาร่วมกันก่นด่าสาปแช่งโกลด์สไตน์ และตบท้ายด้วยสรรเสริญเยินยอพี่เบิ้ม ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าโกลด์สไตน์มีตัวตนอยู่จริงๆหรือไม่ แต่นั่นไม่สำคัญ สิ่งสำคัญก็คือมี “ศัตรูร่วม” ดำรงอยู่ในใจของประชาชนหรือเปล่า เพราะการดำรงอยู่ของสิ่งนี้เป็นหลักประกันความมั่นคงในอำนาจของโอชันเนีย

การดำรงชีวิตในโอชันเนียไม่ยากหากไม่ใช่คนชอบคิด อยู่ในรัฐนี้อย่าตั้งคำถาม อย่าสงสัย พรรคว่าอย่างไรก็ตามนั้น การคิดสงสัยเป็นสิ่งไม่ดี ความรัก การวิพากษ์วิจารณ์ เพศ และอะไรอย่างอื่นอีกมากมายอันแสดงลักษณะของตัวตนหรือความเป็นปัจเจกที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของพรรคเป็นความผิด พรรคเรียกพฤติการณ์เหล่านี้ว่าเป็น “อาชญากรรมความคิด” (thoughtcrime) ทั่วทั้งโอชันเนียจะมี ตำรวจความคิด (Thought Police) ออกไล่ล่าบรรดาขบถนอกคอกทั้งหลายเพื่อนำตัวมาฟอกความคิดให้สะอาด ในการที่จะธำรงรักษาระเบียบเหล่านี้ไว้ให้ได้พรรคจำเป็นต้องคิดรูปแบบของภาษาขึ้นมาใหม่ เรียกว่า “นิวสปีค” (Newspeak) โดยการตัดและลดทอนคำศัพท์ต่างๆให้น้อยลง คำใดที่ทำให้คนสามารถคิดถึงสิ่งที่ทำให้ขบถหรือแหกคอกได้ก็ให้ตัดทิ้งไป วิธีการนี้เป็นผลเชิงปฏิบัติในการครอบงำความคิดด้วยหลักการว่าภาษาเป็นตัวกำหนดความคิดคน เพราะฉะนั้น หากไม่มีคำศัพท์คำนั้นๆให้ใช้คนก็ไม่อาจมีความคิดถึงสิ่งนั้นได้

มีผู้คนจำนวนมากในโอชันเนียที่อยู่ไปโดยไม่เคยตั้งคำถาม มีอีกมากหลายที่กลืนกินทุกสิ่งทุกอย่างที่สอนเอาไว้ เด็กๆเกิดและโตมากับความคิดแบบนี้ทั้งระบบจึงสามารถทำการตรวจสอบและไล่ล่าได้แม้กระทั่งบุพการีของตน ประชาชนจำนวนไม่น้อยในโอชันเนียเป็นเช่นนี้ เป็นฟันเฟืองที่คอยอาละวาดตรวจจับอาชญากรทางความคิดด้วยความหวาดระแวง เป็นตัวแทนตำรวจความคิดอย่างไม่เป็นทางการที่แพร่กระจายอยู่เต็มรัฐ เพื่อนของวินสตันชื่อ “พาร์สัน” ก็เป็นหนึ่งในคนประเภทนี้ เขาคิดและเชื่อตามพรรคทุกอย่าง เป็นมวลชนผู้กระตือรือร้นเอาการเอางานของโอชันเนียโดยไม่เคยตั้งคำถามอะไร แต่วินสตันไม่ใช่คนประเภทนี้ เขาช่างคิด ช่างสงสัย เขาไม่เชื่อ และปรารถนาจะเป็นอิสระ วันหนึ่งเขาก็พบกับจูเลีย หญิงซึ่งมีความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะเป็นตัวของตัวเอง ในที่สุดเขาทั้งสองก็ก่อกบฏขึ้นเงียบๆ ชายหญิงสองคนตกหลุมรักกัน ลักลอบได้เสีย แอบอ่านหนังสือของโกลด์สไตน์ กินอาหารดีๆที่ลอบเอามาจากพรรคชั้นใน พวกเขาสร้างโลกลับส่วนตัวขึ้น คอยหาโอกาสมาใช้เวลาด้วยกัน แต่ทว่าโชคชะตาไม่เข้าข้างเขาไปตลอด เมื่อในที่สุดตำรวจความคิดก็จับตัวทั้งสองคนได้ และนำตัวทั้งคู่ส่งไปให้พรรคพิจารณาโทษ

การพิจารณาโทษของพรรคไม่ง่ายอย่างที่ใครคิด ว่ากันตามจริงแล้ว กระบวนการที่สำคัญไม่ใช่การทำโทษ แต่คือการล้างสมองครั้งยิ่งใหญ่ต่างหาก ทั้งคู่ถูก “โอไบรอัน” สมาชิกชั้นในของพรรคผู้เลือดเย็น เขาเป็นสมาชิกระดับสูง เป็นกลจักรสำคัญในการพยุงภารกิจของพรรคให้ธำรงอยู่อย่างมั่นคงได้ แต่ภายใต้ภาพลักษณ์งามงดดั่งนักบุญของโอไบรอันนั้นมีสมิงร้ายซ่อนอยู่ เขาทำการทรมานวินสตันกับจูเลียเพื่อให้การรับสารภาพ มากไปกว่านั้น การทรมานยังคงหนักขึ้นๆ เพื่อจุดมุ่งหมายในการเปลี่ยนมนุษย์คนหนึ่งให้กลายมาเป็นวัตถุเดินได้ที่ปราศจากการคิด การถาม ความรัก ความใคร่ พลเมืองชั้นดีที่ไม่ต่างอะไรจากผีดิบเดินได้ซึ่งคอยเป็นมือเป็นไม้ให้พรรค

อาจมีคำตอบหลายประการผุดขึ้น เมื่อมีคำถามว่าเหตุใด 1984 จึงอยู่ยั้งยืนยงข้ามผ่านกาลสมัย แต่คำตอบหนึ่งที่เด่นชัดขึ้นมาแน่ๆก็คือเพราะ “ความจริง” ของมันนี่เอง แน่ล่ะ ทั้งหมดนี้คือเรื่องสมมติ และเรื่องสมมตินี้หลายอย่างก็ผิดพลาด แต่มีอะไรบางอย่างที่มันไม่เคยผิดเพี้ยนไปเลย อะไรเล่า? เพราะในทุกสังคมก็มีโอกาสที่จะเป็นโอชันเนียหรือเปล่า “เป็นโอชันเนีย” นั้นแยกได้สองความหมาย อย่างแรกคือเป็นโอชันเนียจริงๆทางกายภาพ กับอย่างที่สองคือมี “ความเป็นโอชันเนีย” ทั้งสองอย่างนี้ไม่เหมือนกัน และแน่นอนเรากำลังพูดถึงอย่างที่สอง

นอกเหนือไปจากนี้ เราพบว่ารอบตัวเราเต็มไปด้วยคนอย่าง “วินสตัน” “จูเลีย” “พาร์สัน” “โอไบรอัน” หรือแม้กระทั่ง “Big Brother” ดังนั้น ที่ 1984 อยู่ยั้งยืนยงอยู่ได้อาจไม่ใช่เพราะว่าออร์เวลล์วาดภาพอนาคตเชิงรูปธรรมถูกต้องหรือไม่ เพราะแน่นอนว่ามันไม่ถูก แต่ใน “ความเป็นโอชันเนีย” ไม่ว่าจะเป็นอำนาจ ข่าวสาร การโฆษณาชวนเชื่อ หรือแม้กระทั่งธรรมชาติของบุคลิกและลักษณะนิสัยของผู้คนนั้น ออร์เวลล์ฉายแสดง “ตัวแบบ” (model) เหล่านี้ได้สำเร็จ และนี่คือเหตุผลที่ทำให้มันยืนยง

เมื่ออ่านนวนิยายจบแล้ว หากสนุกสนานเพลิดเพลินก็นับว่าดี แต่จะมีประโยชน์มากกว่านั้น หากถามตัวเองด้วยว่าเราเป็นคนแบบไหน เป็นแบบวินสตัน จูเลีย โอไบรอัน พาร์สัน หรือไม่เป็นใครเลย ขณะเมื่อมีโอกาสคิดใยไม่คิด มีโอกาสถามใยไม่ถาม มีโอกาสรักใยไม่รัก หรือมีโอกาสไม่รักก็ปฏิเสธที่จะไม่รัก เนื่องจากเชื่อว่าเป็น “มนุษย์” จึงได้คิด เชื่อว่าเป็นมนุษย์ จึงได้ถาม แต่หากต้องการคิดแล้วพบว่าคิดไม่ได้ อยากถามแล้วถามไม่ได้ อยากแตกต่างก็ไม่ได้ อยากเลือกรักหรือไม่รักก็ไม่ได้ คำตอบย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าเราอยู่ในโอชันเนีย

เอาล่ะ หากยังไม่เคยอ่าน 1984 นี่เป็นเวลาดีที่จะเริ่ม หากพบว่าตัวเองเป็นเช่นอย่างวินสตันก็ขอให้โชคดี และรอดพ้นจากโศกนาฏกรรมอย่างที่วินสตันประสบ แต่ระวังตัวให้ดี เพราะเรายังไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน เรื่องราวสมมติอาจไม่ใช่เรื่องสมมติก็ได้ มันอาจเกิดขึ้นจริง เราอาจยืนอยู่ในโอชันเนีย และพี่เบิ้มกำลังจับตามอง

BIG BROTHER IS WATCHING YOU !



[1] ตัวเน้นโดยผู้แปล
บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกใน Bookmoby Review ฉบับปฐมฤกษ์ Issue 01 ปี 2557


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อสรพิษ : ผู้ยอมจำนนคือคนที่ตายแล้ว

ศิลปะเพื่อประชาชนบนโลกเสมือนจริง

ความทรงจำของนายพลนากามูระ – ความทรงจำของข้าพเจ้า