ศิลปะเพื่อประชาชนบนโลกเสมือนจริง

ศิลปะเพื่อประชาชนบนโลกเสมือนจริง

รีวิวหนังสือศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน
กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์




 “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน เป็นงานเขียนของ จิตร ภูมิศักดิ์ ภายใต้นามปากกาว่า “ทีปกร” อันหมายถึงเทียนส่องทาง หรือผู้ให้แสงสว่าง นัยยะของนามปากกาดังกล่าวฉายแสดงให้เห็นอยู่บนปกหนังสือซึ่งเป็นภาพเขียนสีน้ำมันชื่อ Liberty Leading the People ของ Eugène Delacroix ศิลปินชาวฝรั่งเศส ภาพเขียนดังกล่าวนี้ก็เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์ของการปฏิวัติ

หนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2500 (ตามที่ปรากฏในคำนำของผู้เขียน) มีความยาวทั้งสิ้น 223 หน้า เนื้อหาภายในประกอบไปด้วยบทความที่จบในตัว 4 บท ซึ่งถูกเขียนขึ้นต่างกรรมต่างวาระแต่พุ่งเป้าไปที่จุดมุ่งหมายเดียวกัน บทความทั้ง 4 ชิ้น มีชื่อดังต่อไปนี้ (เรียงลำดับตามที่ปรากฏในเล่ม) 1) อะไรหนอที่เรียกกันว่าศิลปะ? และที่ว่าศิลปะเป็นของสูงส่งนั้น มันสูงส่งเพราะความซับซ้อนศักดิ์สิทธิ์หรือไฉน? (58 หน้า : 21-78) 2) ที่ว่า ศิลปะเพื่อศิลปะนั้นคืออย่างไรกันแน่หนอ? (23 หน้า : 81-103) 3) “ศิลปะเพื่อชีวิต” ความหมายของมันโดยแท้จริงเป็นไฉน? (54 หน้า : 105-158) 4) ศิลปะเพื่อประชาชน (54 หน้า : 170-223)

เนื้อหาในสองบทแรกผู้เขียนอุทิศเนื้อหาเกือบทั้งหมดให้กับความพยายามในการแสดงลำดับเหตุผลให้เห็นว่าศิลปะที่เรียกว่า “ศิลปะเพื่อศิลปะ” หรือ “ศิลปะบริสุทธิ์” นั้นไม่มีอยู่จริง กล่าวคือ ศิลปะนั้นไม่อาจถือกำเนิดขึ้นมาได้โดยปราศจากมนุษย์ เมื่อมันเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นมันจึงควรรับใช้มนุษย์ที่สร้างสรรค์งานศิลปะขึ้นมา อีกทั้งมนุษย์ไม่อาจแสดงออกโดยแยกตัวเองให้ขาดจากชีวิตได้ งานศิลปะซึ่งเป็นผลมาจากน้ำมือมนุษย์จึงเป็นดั่งเสียงสะท้อนที่มาจากชีวิตของคนผู้นั้นไม่มากก็น้อย ดังนั้น ศิลปะเพื่อศิลปะจึงไม่มีอยู่จริง (คือต่อให้ศิลปินอยากทำก็ไม่สามารถทำได้) ศิลปะที่มีอยู่จริงก็คือศิลปะเพื่อมนุษย์ซึ่งผู้เขียนเรียกโดยแยกออกเป็นสองประเภทคือ “ศิลปะเพื่อชีวิต” และ “ศิลปะเพื่อประชาชน ทีปกรกล่าวว่า

“ศิลปะที่ไม่รับใช้ใคร ไม่มี ในโลกมีแต่ศิลปะที่รับใช้ไม่ใครฝ่ายหนึ่งเสมอ... ศิลปะที่ไม่รับใช้ชีวิต ไม่มี ในโลกมีแต่ศิลปะที่รับใช้ชีวิตไม่ของใครก็ของใครเสมอฝ่ายหนึ่งเสมอศิลปะเพื่อศิลปะ ไม่มี และมีไม่ได้ ศิลปะเพื่อชีวิตเท่านั้นที่มีอยู่และมีได้(หน้า75)



เนื้อหาสองบทสุดท้ายเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ “ศิลปะเพื่อชีวิต” และ “ศิลปะเพื่อประชาชน” หลังจากที่ผู้เขียนได้โจมตีข้ออ้างของฝ่ายศิลปะเพื่อศิลปะไปแล้วในสองบทแรก สองบทท้ายนี้เขาได้เสนอทัศนะทางศิลปะที่เขาเห็นว่าถูกต้องขึ้นมา โดยมีเหตุผลพื้นฐานก็คือ ในเมื่อศิลปะเพื่อศิลปะไม่มีจริง ดังนั้น ศิลปะที่มีอยู่จริงจึงมีเพียงแค่ศิลปะเพื่อมนุษย์ที่เป็นผู้สร้างเท่านั้น แต่ศิลปะเพื่อมนุษย์ก็มีคุณค่าไม่เท่ากัน หากงานศิลปะนั้นรับใช้เพียงคนๆเดียว เป็นต้นว่า ศิลปินผู้นั้นแต่เพียงผู้เดียว คุณค่าในงานชิ้นนั้นก็ย่อมน้อยกว่าการที่มันสามารถรับใช้คนจำนวนมากซึ่งนั่นก็คือประชาชน อย่างไรก็ตาม ทีปกรได้โจมตีความคิดที่ศิลปินจ้องแต่จะทำงานเพื่อตอบสนองต่อคนหมู่มากโดยขาดอุดมคติในการยกระดับสถานะความเป็นมนุษย์ขึ้นมา ด้วยเหตุนี้งานศิลปะเชิงพาณิชย์ที่ได้รับความนิยมจำนวนมากก็ไม่เข้าข่ายว่าเป็นศิลปะเพื่อประชาชนในความหมายของทีปกร งานประโลมโลกย์เอย หรืองานเชิงพาณิชย์หลายๆชิ้นที่เขายกมาไว้ในเล่มไม่เพียงแต่ไม่ใช่ศิลปะเพื่อประชาชนเท่านั้น แต่ยังเป็นงานที่เขาเห็นว่าชั่วร้ายเลวทรามด้วย เขากล่าวว่า

“ศิลปะเพื่อชีวิต คือศิลปะที่มีผลสะท้อนออกไปสู่ชีวิตและขึ้นชื่อว่าศิลปะแล้วมันย่อมส่งผลสะท้อนออกไปสู่ชีวิตทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะศิลปะมีชีวิตเป็นพื้นฐาน และมีแนวคิดทางสังคมเป็นเครื่องกำหนดท่าทีของมันศิลปะเพื่อชีวิตมิได้หมายถึงศิลปะที่ผลิตออกมาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตัวศิลปิน ชีวิตในที่นี้มิได้หมายถึงชีวิตของศิลปิน หากหมายถึงชีวิตของชนทุกชั้นโดยส่วนรวม สิ่งที่ต้องกำหนดไว้ในใจก็คือ ศิลปะเพื่อชีวิตมิได้หมายความแบบเดียวกับศิลปะเพื่อศิลปิน หรือศิลปะเพื่ออาตมาศิลปะเพื่อชีวิตมันอาจจะเป็นศิลปะที่มีบทบาทเพื่อรับใช้ชีวิตของศัตรูแห่งประชาชนก็ได้ ฉะนั้น สิ่งที่ถูกต้องที่สุดในทรรศนะของประชาชนผู้ทำงานก็คือ ศิลปะที่รับใช้ชีวิตของมวลประชาชนส่วนข้างมากผู้ทำงานเพื่อผลิตสิ่งที่มีคุณค่าออกเลี้ยงสังคม นั่นก็คือ ศิลปะเพื่อประชาชน” (หน้า 158)



ท้ายที่สุด จิตร ภูมิศักดิ์ในนามของทีปกร ได้เรียกร้องให้ศิลปินเลิกผลิตงานเพื่อศิลปะหรือเพื่อตัวเองคนเดียว แล้วหันมาร่วมมือร่วมใจกันรังสรรค์งานศิลปะเพื่อประชาชนในฐานะที่เป็นกลไกสำคัญของการหมุนเร่งกงล้อแห่งการปฏิวัติ สำหรับตัวผู้เขียนเองนั้น เหตุการณ์ที่ปรากฏในภายหลังพิสูจน์ให้โลกเห็นว่าเขาเชื่อในสิ่งที่ตนเขียนอย่างสุดหัวใจ เมื่อเขาได้วางปากกาแล้วหันมาจับปืนเข้าร่วมสงครามประชาชนในอีกไม่กี่ปีต่อมา และ 9 ปีหลังจากหนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ เขาก็ได้อุทิศชีวิตของตนให้กับขบวนการปฏิวัติตามอย่างที่บทกวีของ “อาเวตีก อีสากยัน” (หน้า 163) ที่เขาเองเป็นผู้แปล (ภายใต้นามปากกาว่าศรีนาคร) ซึ่งมีถ้อยคำว่า

เพื่อลบรอยคราบน้ำตาประชาราษฎร์
สักพันชาติจักสู้ม้วยด้วยหฤหรรษ์
แม้นชีพใหม่มีเหมือนหวังอีกครั้งครัน
จักน้อมพลีชีพนั้นเพื่อมวลชน



ออกจะดูแปลกๆที่ต้องมาเขียนรีวิวหนังสือ “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” ซึ่งตีพิมพ์มาหกสิบปีแล้ว ทำไมแปลกล่ะ? ก็ในเมื่องานของสุนทรภู่ก็อายุเป็นร้อยปี เพลโตเป็นพันๆปีก็ยังพิมพ์อ่านกันอยู่จนถึงทุกวันนี้ แต่ความรู้สึกแปลกๆของการอ่านงานชิ้นนี้ไม่ใช่ที่อายุ แต่อยู่ที่เนื้อหาเมื่อมันเผชิญเข้ากับบริบทของยุคสมัย ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก และมันก็เปลี่ยนแปลงไปไกลเกินกว่าที่จิตรคิด เมื่อเราพินิจถึงโลกปัจจุบันซึ่งเราอาศัยอยู่ก็อดคิดไม่ได้ว่าหากจิตรยังมีชีวิต ทัศนะของเขาจะยังคงเป็นเช่นเดิมหรือไม่ หากไม่ ความคิดของเขาจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด เรื่องนี้อันที่จริงก็อย่าว่าแต่จิตรเลย แม้แต่คาร์ล มาร์กซ์ก็ไม่อาจคาดการณ์ได้เหมือนกัน

จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้อาจไม่ใช่การกระตุ้นเร้าไฟปฏิวัติให้กับคนหนุ่มสาวเหมือนเมื่อก่อน แต่คือตัวอย่างของงานเขียนที่ผู้เขียนแสดงลำดับเหตุผลได้อย่างหนักแน่นและคงเส้นคงวา ฉายให้เห็นการหักล้างและสนับสนุน นอกจากนั้นยังสะกิดให้คนอ่านรู้สึกละอายอยู่ตะหงิดๆเมื่อเห็นผู้เขียนมุ่งมั่นใส่ใจกับการช่วยเหลือผู้อื่น และอดสะท้านใจไม่ได้เมื่อนึกไปถึงโศกนาฏกรรมของเขาเมื่อต่อสู้สุดกำลังเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามความคิดนั้น นอกเหนือไปจากนี้ก็ไม่แน่ใจนักว่ายุคสมัยปัจจุบันจะต้อนรับอะไรจากเขาอีก



ทุกวันนี้ เมื่อบริษัทต่างๆทำการเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ ผู้คนต่างก็ให้ความสนใจและแห่แหนกันลงทะเบียนจองราวของแจกฟรี  ยุคสมัยนี้จะมีใครชูธงปฏิวัติและอ่าน The Communist Manisfeto บ้าง? คนขับรถบรรทุก? ผู้ชุมนุมทางการเมือง? เจ้าของร้านอาหารป่า? ทหาร? พริตตี้? ผู้เข้าประกวดเรียลลิตี้โชว์? หรือว่าเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าวัยรุ่น? 

แน่ล่ะ ความคิดที่ว่าจะทำอะไรสักอย่างเพื่อใครสักคน หรือกระทั่งเพื่อประชาชนจำนวนมากยังมีอยู่ แต่มันดำรงอยู่ในสถานภาพที่เป็นแนวทางเดียวที่ชีวิตควรอุทิศให้หรือไม่นั้น อาจไม่มีใครใส่ใจตอบออกมาตรงๆ เพราะหากมีความช่างสังเกตเอาสักหน่อย แค่ยกสมาร์ทโฟนขึ้น เปิดเว็บโซเชียลเน็ทเวิร์ค กระโจนเข้าสู่โลกเสมือน งานศิลปะทั้งหลายจะกระเด้งกระดอนขึ้นมา เนื้อนมไข่ ขาวใสไร้ที่ติ มียอดคลิกไลค์เป็นหมื่นเป็นพัน จิ้มไลค์กันได้ทั้งวันก็ไม่หมด จะให้ทำใจอดได้อย่างไร ในเมื่อที่ทำๆไป

ก็เพื่อประชาชนทั้งนั้นเลยนะเนี่ยยย

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์
twitter @kritkrittapas
instagram @krit_krittapas
Youtube : Krittapas Channel

* บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่ facebook ของห้องสมุด The Reading Room Bangkok
https://www.facebook.com/thereadingroombkk/photos/a.409446015782085.93507.165723333487689/420379424688744/?type=3&theater

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อสรพิษ : ผู้ยอมจำนนคือคนที่ตายแล้ว

ความทรงจำของนายพลนากามูระ – ความทรงจำของข้าพเจ้า