ปรัชญาตายแล้ว? ประวัติศาสตร์ปรัชญา ฉบับกะทัดรัด

ปรัชญาตายแล้ว?  ประวัติศาสตร์ปรัชญา ฉบับกะทัดรัด
กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์



หนังสือ “ประวัติศาสตร์ปรัชญา ฉบับกะทัดรัด” เป็นหนังสือแปลจากภาษาอังกฤษชื่อ A Little History of Philosophy” โดย “ไนเจล วอร์เบอร์ตัน” (Nigel Warburton) ซึ่งเป็นนักเขียนหนังสือปรัชญาอ่านง่ายและขายดี และเป็นอาจารย์แห่ง Open University หนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยโดยนักเขียนซีไรต์อย่าง “ปราบดา หยุ่น” และ “รติพร ชัยปิยะพร” นักแปลที่มีผลงานแปลมากมาย อาทิ EURO ล่มสลาย, ที่ใดมีความเศร้า, แวมไพร์เลสแต็ท นอกจากนี้ รติพรยังเคยศึกษาปรัชญาทั้งในไทยและในฝรั่งเศสอีกด้วย 

หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์โดย “สำนักหนังสือไต้ฝุ่น” ซึ่งเป็นบริษัทของปราบดาผู้แปลหนังสือเล่มนี้ มีความยาว 317 หน้า ราคาตามปก 320 บาท แม้จะเป็นหนังสือหมวดปรัชญาซึ่งปกติแล้วไม่ทำเงินให้กับผู้จัดพิมพ์มากนัก แต่ปรากฏว่าเล่มนี้กลับได้รับความนิยมทั้งในหมู่ผู้อ่านชาวไทย(ในฉบับแปล)และผู้อ่านชาวต่างประเทศ(ในฉบับภาษาอังกฤษ) ทำให้ฉบับแปลไทยได้รับการพิมพ์ครั้งที่ ในเวลาไม่นานหลังจากการพิมพ์ครั้งแรก ที่เป็นเช่นนี้ก็อาจด้วยความสามารถในการเล่าเรื่องของผู้แต่ง ความสามารถในการแปลของผู้แปล (มีงานแปลปรัชญาอ่านง่ายออกมาพอสมควรแล้วแต่ไม่มีเล่มไหนอ่านสนุกเท่าเล่มนี้ซึ่งชวนให้สันนิษฐานว่าเป็นเพราะทักษะการแปลด้วย) รวมทั้งความสนใจใคร่รู้เนื้อหาปรัชญาของผู้อ่านที่น่าจะมีอยู่ไม่น้อยแต่ยังไม่ถนัดอ่านตัวบทปรัชญาต้นฉบับซึ่งยากกว่านี้และมีกำแพงภาษากั้นอยู่

ประวัติศาสตร์ปรัชญาฯ ประกอบไปด้วยเนื้อหา 40 บท แต่ละบทถ่ายทอดแนวคิดสำคัญของนักปรัชญาแต่ละคน อย่างไรก็ตามจำนวน 40 บท ไม่ได้หมายความว่าต้องมีนักปรัชญา 40 คนด้วย เพราะวอร์เบอร์ตันเล่าแนวคิดของบางคนโดยใช้พื้นที่ 2 บท นักปรัชญาในกรณีนี้มี 2 คน คือ จอห์น ล็อก (บทที่ 14 – 15) และ อิมมานูเอล คานท์ (บทที่19 - 20) ในขณะที่บางบทมีแนวคิดของนักปรัชญาหลายคน(แต่มีประเด็นสำคัญร่วมกัน) รวมอยู่ในบทเดียว เช่น บทที่ 1 “ชายผู้ตั้งคำถาม” โซเครตีส และ เพลโต บทที่ 5 “เรียนรู้ที่จะไม่แยแส” เอพิคเตตุส, ซิเซโร, เซเนกา หรือบทที่ 33 “ความทุกข์ของเสรีภาพ” ฌอง ปอล ซาทร์, ซิโมน เดอ โบวัวร์, อัลแบร์ กามู เป็นต้น สรุปแล้วงานชิ้นนี้บอกเล่าทัศนะของนักปรัชญา 51 คนภายใน 40 บท ด้วยการย่อยเนื้อหาที่ยากและซับซ้อนให้กลายเป็นบทแนะนำปรัชญาเบื้องต้นแก่ผู้อ่านทั่วไปอย่างสนุกสนานและง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้โดยไม่บิดเบือนสาระสำคัญของบรรดา 51 นักคิดนี้ อย่างไรก็ตาม เนื้อหาทั้งหมดในเล่มมีขอบเขตเฉพาะนักปรัชญาตะวันตกเท่านั้น ดังนั้น หากจะระบุให้ชัดเจนและถูกต้องจริงๆ ผลงานชิ้นนี้ก็คือ “ประวัติศาสตร์ปรัชญาตะวันตก ฉบับกะทัดรัด” มิใช่ประวัติศาสตร์ปรัชญาที่หมายรวมไปถึงอาณาจักรความคิดทางฝั่งตะวันออกด้วย




คุณูปการและความน่าสนใจของหนังสือแปลเล่มนี้มีหลายข้อ

ประการที่หนึ่ง คือการสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรเชื้อเชิญกลุ่มผู้อ่านที่ไม่รู้จักปรัชญามาก่อน หรือรู้เพียงผิวเผิน หรือมีความสนใจอยู่ก่อนแล้วแต่ไม่ชำนาญการอ่านตัวบทภาษาอังกฤษให้ได้ทำความรู้จักแนวคิดปรัชญาตะวันตกในเบื้องต้นว่าสนทนาถึงสิ่งใดบ้าง การถ่ายทอดความคิดซึ่งเดิมเข้าใจยากและซับซ้อนออกมาให้เข้าใจง่ายและอ่านสนุกสำหรับผู้อ่านทั่วไปนั้นเป็นโจทย์สำหรับนักเขียนที่ไม่ง่ายเลย แต่วอร์เบอร์ตันก็ทำออกมาได้ดีอย่างน่าชื่นชม โดยปกตินักวิชาการและนักศึกษาในวงการปรัชญามักเขียนงานปรัชญาที่เต็มไปด้วยศัพท์เทคนิคและละเว้นการอธิบายคอนเซ็ปต์พื้นฐาน เนื่องจากจุดมุ่งหมายของการสื่อสาร ตลอดจนกลุ่มผู้อ่านซึ่งเป็นผู้คนในแวดวง ทำให้ผู้เขียนงานคาดคะเนไว้ก่อนว่าผู้อ่านจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานปรัชญาอยู่แล้ว ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องปรับวิธีการสื่อสารให้ง่ายแต่อย่างใด ต่างกับหนังสือเล่มนี้ที่วอร์เบอร์ตันมุ่งสนทนากับผู้อ่านนอกวงวิชาการปรัชญาเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้ เขาจึงพยายามย่อยเนื้อหาที่เข้าถึงยากให้กลายเป็นขนมขบเคี้ยวอันเชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆรอบตัวได้ชัด กล่าวคือในขณะที่คนไทยโดยทั่วไปยังขาดความรู้ความเข้าใจวิชาปรัชญา และนักปรัชญาในวงวิชาการก็คิดค้นต่อยอดเนื้อหาและวิธีศึกษาในระดับที่ลึกไปเรื่อยๆ ซึ่งทำให้สื่อสารเข้าใจในโลกของนักปรัชญาด้วยกันเองเท่านั้น สถานการณ์นี้กลายเป็น “โลก” สองใบของกลุ่มคนสองกลุ่มที่แยกขาดกันโดยสิ้นเชิง ไม่อาจสนทนาให้รู้เรื่อง แต่หนังสือเล่มนี้เล่นบทบาทสำคัญในภาวะดังกล่าว คือการทำปรัชญาในฐานะที่เป็นสะพาน” เชื่อมระหว่างโลกทั้งสองให้สามารถเริ่มต้นพูดคุยและทำความเข้าใจกันได้

ประการที่สอง มันช่วยทำให้ผู้อ่านได้เห็นภาพร่างของโลกปรัชญาในแบบที่ศึกษากันอยู่ตามมหาวิทยาลัยว่าเป็นเช่นใด อันจะนำมาสู่ความเข้าใจและเชื่อมโยงการศึกษาหาความรู้ในระดับสูงต่อไปได้ สิ่งนี้อาจไม่จำเป็นสำหรับนักวิชาการและนักศึกษาที่ผ่านกระบวนการศึกษาปรัชญาในมหาวิทยาลัยมาแล้ว แต่จำเป็นอย่างมากต่อภาพรวมของประเทศไทยซึ่งผู้คนในสังคมยังสับสนกับความหมายของวิชาปรัชญาอยู่มาก อันเนื่องจากการนำคำว่า “ปรัชญา” ไปใช้ในความหมายที่หลากหลาย ตั้งแต่เป็นคติ คำคม กวี แนวทางชีวิต ไลฟ์สไตล์ ศาสนา ธรรมะ จริยธรรม ค่านิยม พุทธศาสนา นโยบาย จุดมุ่งหมายต่างๆ ฯลฯ ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ได้หมายความว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ปรัชญาหรือไม่อาจเป็นปรัชญาแต่อย่างใด เพราะสิ่งเหล่านี้มีคำถามและวิธีการหลายอย่างร่วมกับปรัชญา แต่วิธีการ ท่าที และพื้นฐานของการแสวงหาคำตอบยังต่างกันอยู่มาก ทางที่ดีหากมีพื้นที่ในการทำความเข้าใจปรัชญาแบบที่ศึกษากันในมหาวิทยาลัยมากกว่านี้ก็จะช่วยลดความสับสนในการสื่อสารและการพัฒนาการศึกษาไปได้ไม่น้อย เรื่องนี้สังเกตได้ง่ายตามชั้นในร้านหนังสือซึ่งหมวดปรัชญาและศาสนามีแต่หนังสือธรรมะเกือบทั้งหมด ซ้ำยังมีหนังสืออื่นๆที่ไกลห่างจากวิชาปรัชญาพอสมควร อย่างเช่น ไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ ฯลฯ รวมอยู่ด้วย

ประการที่สาม คือวิธีการร้อยเรียงแต่ละบทเข้าด้วยกัน โจทย์คือทำอย่างไรถึงจะสามารถเชื่อมเนื้อหาปรัชญาที่แตกต่างกันทั้งยุคสมัยและประเด็นที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่นักเขียนจำนวนไม่น้อยมองข้าม กระทั่งไม่เห็นความจำเป็นในการสร้างเอกภาพให้กับงานเขียน จริงอยู่ที่มันไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย แต่หากทำได้ก็นับเป็นความงดงามของการถ่ายทอดซึ่งต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์และฝีมือเชิงวรรณศิลป์ ในทัศนะของผมประดิษฐกรรมเช่นนี้สามารถเพิ่มคุณค่าให้กับหนังสือได้ และวอร์เบอร์ตันใช้เทคนิคดังกล่าวในการวางประโยคท้ายบทเพื่อผูกแต่ละบทเข้าด้วยกันไปจนจบเล่มได้อย่างลงตัวด้วย เทคนิคนี้นอกจากทำให้งานเขียนมีความลื่นไหลแล้ว ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือ (1) มันฉายให้ผู้อ่านเห็นว่าข้อถกเถียงของนักปรัชญาแต่ละคนจากต่างยุคสมัยไม่ได้แยกขาดออกจากกันโดยสิ้นเชิง แต่มีการส่งต่อคำถามและคำตอบมาอย่างต่อเนื่องตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ และ (2) มันหลอกล่อให้ผู้อ่านวางไม่ลง กระทั่งมารู้ตัวอีกทีก็อ่านจบเสียแล้ว

ประการที่สี่ ใครคือนักปรัชญาคนสำคัญซึ่งสมควรได้รับการบรรจุลงมาในเล่มตามทัศนะของผู้เขียน คำถามนี้มีความสำคัญต่อหนังสือเล่มนี้เพราะฉายให้เห็นมุมมองต่อปรัชญาที่ต่างจากนักวิชาการปรัชญาคนอื่น ตัวอย่างเช่น วอร์เบอร์ตันเลือกนักชีววิทยา ชาร์ลส์ ดาร์วิน, นักจิตวิทยา ซิกมุนด์ ฟรอยด์, นักคณิตศาสตร์ อลัน เทอริง เข้ามาไว้ในเล่ม แต่กลับไม่ปรากฏชื่อของนักปรัชญาระดับบิ๊กเนมอย่าง มาร์ติน ไฮเดกเกอร์, เยอร์เก้น ฮาร์เบอร์มาส, มิเชล ฟูโกต์, อันโตนีโอ กรัมชี่, ฌาคส์ แดร์ริดา ฯลฯ วอร์เบอร์ตันมีเหตุผลอะไรในการเลือกเช่นนี้? เพราะนักปรัชญาเหล่านี้ “ใหม่” เกินไปหรือ? ผมคิดว่าไม่ใช่ เพราะไฮเดกเกอร์ไม่ใช่หน้าใหม่ กรัมชี่ก็ไม่ใหม่ แดร์ริดากับฮาร์เบอร์มาสเองก็เก่ากว่าหลายคนที่ปรากฏในเล่ม ฉะนั้น เหตุผลเรื่องความใหม่จึงตกไป สิ่งที่วอร์เบอร์ตันพิจารณาจริงๆน่าจะอยู่ที่ประเด็นคำถามที่นักปรัชญาเหล่านั้นสนใจ เช่น พวกเขาถกเถียงกันเรื่องอะไร มันรับช่วงและส่งคำถามต่อไปอย่างไรเสียมากกว่า ตัวอย่างเช่น ในย่อหน้าสุดท้ายของบท 29 “ความตายของพระเจ้า” ฟรีดิช นิทเช่ ที่ว่า “ต่างจากอิมมานูเอล คานท์ที่สรรเสริญเหตุผล นิทเช่มักให้ความสำคัญกับบทบาทที่อารมณ์และแรงขับที่ไร้เหตุผลมีต่อคุณค่าของมนุษย์เสมอ เห็นได้ชัดว่าทัศนะของเขาน่าจะมีอิทธิพลต่อซิกมุนด์ ฟรอยด์ ผู้สำรวจธรรมชาติและอำนาจของความปรารถนาในจิตใต้สำนึกในงานของเขา”(หน้า 229) จากนั้นบทต่อไปก็เป็นบท 30 “การพรางตัวของความคิด” ซิกมุนด์ ฟรอยด์ ก็เปิดฉากด้วยประโยคที่ว่า “คุณสามารถรู้จักตัวเองได้จริงหรือ นักปรัชญายุคโบราณเชื่อว่าคุณทำได้ แต่ถ้าพวกเขาคิดผิดเล่า หากมีบางส่วนในจิตที่คุณไม่มีทางเข้าถึงได้โดยตรง เหมือนกับห้องที่ถูกปิดล็อกไว้ถาวร ทำให้คุณไม่มีทางเข้าไปข้างในได้เล่า” (หน้า 231) จะเห็นได้ว่านักปรัชญาแต่ละคนเชื่อมต่อกันด้วยประเด็นต่างๆที่พวกเขาครุ่นคิด ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็น “นิยามของปรัชญาในจุดยืนหรือมุมมองของวอร์เบอร์ตันว่าคือการพยายามขบคิด แสวงหา และอธิบายความจริงของสรรพสิ่ง ไม่ว่าจะเป็น โลก มนุษย์ ชีวิต หรือสิ่งอื่นใด ด้วยเหตุด้วยผล (rational) ถึงแม้ทฤษฎีของคนผู้นั้นจะบ่งชี้ถึงความไม่เป็นเหตุเป็นผล (irrational) ของพฤติกรรมมนุษย์ และไม่ว่าสังคมจะจัดประเภทคนพวกนั้นให้อยู่ในอาชีพใดก็ตาม ในขณะที่นักปรัชญาที่ผ่านมาก่อนหน้าฟรอยด์ทำความเข้าใจ ตีความ อธิบายพฤติกรรมและความจริงต่างๆภายใต้ “จิตสำนึก” (conscious) แต่ฟรอยด์กลับเห็นว่ามันอยู่ภายใต้ “จิตไร้สำนึก” (unconscious) ต่างหาก ถ้ามองไปที่เนื้อหาล้วนๆงานของฟรอยด์ก็เป็นจิตวิทยา แต่ถ้ามองไปที่การอ้างเหตุผลอธิบายทฤษฎีความคิด งานของฟรอยด์ก็เป็นปรัชญา เพราะฉะนั้น ไม่ว่าคนอื่นจะจัดให้ฟรอยด์เป็นนักจิตวิทยา หรือปรัชญา หรืออะไรก็ช่าง แต่สำหรับวอร์เบอร์ตัน ทฤษฎีและกิจกรรมทางปัญญาของฟรอยด์เป็นปรัชญาทันทีหากตัดสินด้วยเกณฑ์นี้



ข้อสุดท้าย ประการที่ห้า นิยามของปรัชญาในทัศนะของวอร์เบอร์ตันอีกข้อหนึ่งซึ่งสำคัญมากก็คือ “สปิริตของนักปรัชญา” ข้อสังเกตตรงนี้เห็นได้จากการที่ผู้เขียนเริ่มต้นหนังสือด้วย “โซเครตีส” แทนที่จะเป็น “ธาเลส” ตามหลักฐานที่ปรากฏทางประวัติศาสตร์ และปิดเล่มด้วย “ปีเตอร์ ซิงเกอร์” ในบทสุดท้าย เหตุใดจึงต้องเริ่มที่โซเครตีสและจบลงที่ซิงเกอร์ด้วย? เพราะหากนับตามยุคสมัย ก็ยังมี นักปรัชญานามอุโฆษรุ่นใหม่ล่าสุดอีกหลายคนที่สร้างชื่อขึ้นหลังซิงเกอร์ คำตอบก็คือ เพราะวอร์เบอร์ตันไม่ได้ถือเอาความสำคัญที่การลำดับเวลา แต่ถือเอาลักษณะที่แสดงความยืนยงในสปิริตของปรัชญาต่างหาก ตัวผู้เขียนกล่าวเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ต้นในบทที่ 1 ถึงจุดยืนของโซเครตีสซึ่งต่อมาได้กลายเป็นสปิริตของนักปรัชญาจนถึงปัจจุบันว่า 

“คำว่านักปรัชญา (philosopher) มาจากคำกรีก แปลว่า รักในความรู้ (หน้า 15) “ชีวิตจะมีค่าก็ต่อเมื่อเราครุ่นคิดถึงสิ่งที่เราทำ การไม่ตรวจสอบชีวิตเลยอาจไม่เป็นปัญหาสำหรับวัวควาย แต่ไม่ใช่สำหรับมนุษย์” (หน้า 15) และกล่าวถึงอวสานของโซเครตีสที่ยอมตายเสียดีกว่าอยู่โดยไม่ตั้งคำถาม “หากเขามีตัวเลือกว่าสามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างเงียบๆ ไม่ตั้งคำถามยากๆอะไรอีก เขาก็จะไม่เลือกทางเดินนั้น เขายอมที่จะตายเสียดีกว่า มีเสียงภายในที่บอกให้เขาตั้งคำถามกับทุกอย่างต่อไป และเขาไม่อาจทรยศต่อเสียงนั้นได้ จากนั้นเขาจึงดื่มยาพิษ ไม่นานก็สิ้นใจ” (หน้า 19) ทว่าในบทสนทนาของเพลโต โซเครตีสยังคงดำรงอยู่ ชายผู้ซับซ้อนที่มุ่งมั่นตั้งคำถามและเลือกที่จะตายแทนการหยุดคิดค้นหาความจริงของสรรพสิ่ง กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักปรัชญานับแต่นั้นมา” (หน้า 19)




วอร์เบอร์ตันเริ่มต้นบทแรกด้วยโซเครตีส และจบบทสุดท้ายลงที่ซิงเกอร์ เขาตั้งชื่อบทสุดท้ายว่า “ตัวเหลือบสมัยใหม่” ล้อคำที่โซเครตีสกล่าวอ้างไว้ในศาลเอเธนส์ว่าเขาเป็น “เหลือบ” (gadfly-ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในหนังสือ Apologia ของ Plato) ที่แม้สร้างความรำคาญให้กับม้าแต่ก็ทำให้ม้าตื่น นี่เป็น “จิตวิญญาณของโซเครตีส” ที่กลายมาเป็นสปิริตของปรัชญาในกาลต่อมา ไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักปรัชญาอาจไม่ได้เป็นที่รัก เพราะเขาตั้งคำถามและแย้งในสิ่งที่หลายคนไม่อยากฟัง พยายามแสวงหาความจริงที่หลายคนไม่อยากยอมรับ แต่ความน่ารำคาญเช่นนี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสังคมมนุษย์ในการตรวจทานตัวเองและพัฒนา หลังจากเวลาล่วงผ่านไปราว 2,400 ปีนับจากจุดจบของโซเครตีส การดำรงอยู่ของคนอย่างซิงเกอร์สะท้อนว่าสปิริตนี้ยังคงอยู่ เขาเสนอความคิดที่หลายครั้งปั่นป่วน นักปรัชญาหลายคนยังคงเล่นบทบาทเหลือบในยุคสมัยใหม่ไม่ต่างจากที่โซเครตีสทำในสมัยก่อน วอร์เบอร์ตันเขียนไว้ในบทสุดท้ายว่า

“เช่นเดียวกับโซเครตีส เนิ่นนานหลายปีก่อนหน้า ซิงเกอร์อาจหาญสุ่มเสี่ยงเมื่อเขาเสนอถ้อยแถลงในที่สาธารณะเกี่ยวกับความคิดของเขาว่า เราควรใช้ชีวิตอยู่อย่างไร การบรรยายของเขาเคยมีกลุ่มประท้วงต่อต้านและเขาเคยถูกขู่เอาชีวิต ทว่าเขาสะท้อนธรรมเนียมทางปรัชญาที่ดีที่สุด เขาท้าทายสมมติฐานที่คนส่วนใหญ่เชื่อมั่นอยู่เสมอ ปรัชญาของเขามีผลต่อการใช้ชีวิตของเรา และเมื่อเขาเห็นต่างจากคนอื่น เขาพร้อมที่จะท้าทายความเห็นของผู้คนรอบข้าง พร้อมที่จะร่วมอภิปรายในพื้นที่สาธารณะ ที่สำคัญ ซิงเกอร์รองรับบทสรุปของเขาด้วยการโต้แย้งด้วยเหตุผลจากข้อมูลที่ผ่านการวิจัยค้นคว้ามาอย่างละเอียด คุณไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องกับบทสรุปของเขาที่สัมผัสถึงความจริงใจในความเป็นนักปรัชญาของเขา ในที่สุดแล้วปรัชญาอยู่ได้เพราะการถกเถียง อยู่ได้ด้วยการมีคนเลือกจุดยืนคนละฝั่งและโต้แย้งกันด้วยตรรกะและหลักฐาน หากคุณไม่เห็นพ้องกับทัศนะของซิงเกอร์ .... ก็ยังมีโอกาสสูงที่การอ่านงานของเขาจะทำให้คุณตรึกตรองทบทวนอย่างหนักว่าคุณเชื่ออะไรกันแน่ และความเชื่อนั้นมีข้อเท็จจริง เหตุผล และหลักการรองรับหรือไม่ ปรัชญามีจุดเริ่มต้นจากคำถามที่สร้างความอึดอัดและการท้าทายที่ยากเย็นซับซ้อน การมีนักปรัชญาผู้ก่อกวนราวกับเป็นตัวเหลือบทางความคิดอย่างปีเตอร์ ซิงเกอร์วนเวียนอยู่เช่นนี้ ย่อมมีโอกาสอย่างยิ่งที่จิตวิญญาณของโซเครตีสจะยังคงทำหน้าที่ก่อร่างสร้างอนาคตให้ปรัชญาต่อไป” (หน้า 314 – 315)



ปรัชญาคืออะไร? กล่าวอย่างครอบคลุมที่สุด ผมคิดว่าองค์ประกอบของปรัชญามี 3 อย่าง คือ 

() เนื้อหาทางปรัชญา เช่น ความยุติธรรมคืออะไร ความสุขที่แท้จริงคืออะไร มีวิธีการใดในการวินิจฉัยการกระทำว่าผิดหรือถูก 

() วิธีการทางปรัชญา เช่น การใช้ตรรกะเหตุผล สำรวจ ตรวจสอบ แยกแยะ  

() สปิริตหรือจิตวิญญาณของปรัชญา นั่นคือ การยืนหยัดตั้งคำถาม ฉงนสงสัย กระตือรือร้นต่อการแสวงหาปัญญาความรู้ 

ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ใน ประการที่ 4 นั้นกล่าวถึงนิยามของปรัชญาในแง่มุมหรือลักษณะตามข้อ () เนื้อหาทางปรัชญา และ () วิธีการทางปรัชญา 

ส่วน ประการที่ 5 กล่าวถึงในแง่มุมหรือลักษณะตามข้อ () สปิริตของปรัชญา นั่นคือ “ความรักในปัญญาความรู้” นั่นเอง 

นิยามปรัชญาของวอร์เบอร์ตันซึ่งซ่อนอยู่เบื้องหลังฉากหน้าที่ปรากฏการออกแบบและจัดวางงานเขียนออกมาเช่นนี้ได้ตอบโต้ (ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) ต่อคำถาม “ปรัชญาตายไปหรือยัง?” ว่า “ปรัชญาไม่มีวันตาย” มันจะอยู่ต่อไปตราบเท่าที่มนุษย์ยังคงตั้งคำถาม เพื่อเรียนรู้และเข้าใจสรรพสิ่งมนุษย์จะตั้งคำถามสืบไป และในจำนวนมนุษย์เช่นนี้มีอยู่กลุ่มหนึ่งที่ตั้งคำถามโดยไม่ประหวั่นพรั่นพรึงต่อภยันตรายใดๆ หรือไม่ยี่หระต่ออุปสรรคขวางหนามทั้งปวง ทางเดียวที่ปรัชญาจะตายได้ก็คือการที่มนุษย์หยุดตั้งคำถามนั้นเสียเอง 



เอาล่ะ “แล้วตกลงนักปรัชญาคือใครกันเล่า?” 

ใครกันเป็นนักปรัชญาที่แท้หากนิยามของวอร์เบอร์ตันถูกต้อง?” 

จากที่กล่าวมาทั้งหมดก็พอสรุปได้ว่า ถึงแม้นิยามของปรัชญาในมหาวิทยาลัยกับในร้านหนังสือจะต่างกัน และเนื้อหาในมหาวิทยาลัยก็ดูจะตรงกว่า แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผู้คนในวงปรัชญาตามมหาวิทยาลัยต้องเป็นนักปรัชญาด้วย ในแง่นี้ถ้ายึดตามวอร์เบอร์ตัน ซึ่งรับความคิดจากขนบของโซเครตีสมาอีกต่อหนึ่ง นิสิตนักศึกษา นักวิชาการ หรือผู้ประกอบวิชาชีพปรัชญาบางคนย่อมไม่ใช่นักปรัชญา 

ในขณะที่นักปรัชญาที่แท้อาจไม่ใช่นิสิตนักศึกษา นักวิชาการ หรือผู้ประกอบวิชาชีพปรัชญาเลยก็ได้


กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์
twitter @kritkrittapas
instagram @krit_krittapas
Youtube : Krittapas Channel

* บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่ siamstupid


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อสรพิษ : ผู้ยอมจำนนคือคนที่ตายแล้ว

ศิลปะเพื่อประชาชนบนโลกเสมือนจริง

ความทรงจำของนายพลนากามูระ – ความทรงจำของข้าพเจ้า