สูตรสุคติ The Catalogue of Death

สูตรสุคติ
The Catalogue of Death



สูตรสุคติ หรือในชื่อภาษาอังกฤษคือ The Catalogue of Death เป็นหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องราวทั้งหลายเกี่ยวกับความตาย ฉบับภาษาไทยจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แซลมอน พิมพ์สองสี (ขาวกับเหลือง) ความหนาประมาณ 170 หน้า ราคาตามปก 195 บาท เขียนโดย บุนเป โยริฟุจิ นักเขียน นักวาดภาพ และกราฟิคดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่นที่มีแฟนติดตามผลงานอย่างเหนียวแน่น สูตรสุคติได้รับการแปลจากภาษาญี่ปุ่นโดย ณัฐพงศ์ ไชยวานิชย์ผล แฟนพันธุ์แท้ประเทศญี่ปุ่นประจำปี 2557 นอกเหนือไปจากรางวัลนี้แล้วผู้แปลยังผ่านการศึกษาระดับปริญญาโทจากญี่ปุ่น ทำงานกับคนญี่ปุ่น เขียนหนังสือเกี่ยวกับญี่ปุ่น (เอ๊ะ! เจแปน และ JAPAN DID) รวมทั้งยังมีภรรยาเป็นชาวญี่ปุ่นด้วย จากคุณสมบัติดังกล่าวทำให้พออนุมานได้ว่าตัวนักแปลน่าจะมีความเข้าใจภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่นเป็นอย่างดี



ในเล่มแบ่งออกเป็น 8 บท ได้แก่ บทนำ, ประตูสู่ความตาย, รูปแบบของความตาย, จังหวะของความตาย, สถานที่ตาย, สาเหตุของความตาย, ตำนานของความตาย, และ วิถีแห่งความตาย แต่ละบทประกอบด้วยภาพเป็นส่วนใหญ่ เนื้อหาเป็นส่วนรอง คือมีรูปภาพอยู่มากกว่าตัวหนังสือ ดังนั้นแม้ตัวเล่มจะมีความหนาประมาณ 170 หน้า แต่ก็อ่านจบได้อย่างรวดเร็วในเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง อย่างไรก็ตามประเด็นที่หนังสือทิ้งไว้หาได้จบเร็วตามระยะเวลาในการอ่านไม่ คำถามสำคัญหลายคำถามในเล่มนอกจากไม่อาจหาคำตอบได้อย่างง่ายดายแล้วยังสะกิดให้ผู้อ่านนำไปขบคิดต่อได้อีกยาวนานไม่รู้จบ

จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้คืออยู่ที่ภาพวาดอันสวยงาม ดูง่าย และเต็มไปด้วยอารมณ์ขัน ทว่าจุดเด่นนี้ก็ทำให้เนื้อหาในเล่มถูกทอนลงไม่ให้มีมากและหนักเกินไป การที่หนังสือเล่มนี้เต็มไปด้วยภาพเป็นจุดเด่นซึ่งอาจถูกใจผู้อ่านในวงกว้างโดยเฉพาะวัยรุ่น คนที่ไม่มีเวลามากนัก หรือคนที่ไม่ชอบอ่านหนังสือยาวๆ แต่ทำให้มองอีกมุมหนึ่งได้ว่ามีเนื้อหาเบาเกินไปสำหรับกลุ่มผู้อ่านที่โตมากแล้วที่ต้องการครุ่นคิดถึงชีวิตและความตายอย่างลงลึก เช่น กลุ่มวัยทำงาน นักวิชาการ นักการศาสนา หรือนักบวช



บุนเป โยริฟุจิ พาเราไปสืบค้นเรื่องราวการตายจากแง่มุมต่างๆซึ่งข้อมูลที่รวบรวมมาทำให้เห็นความซับซ้อนของความตายอันน่าพิศวง ไม่ว่าจะเป็นอายุขัยของมนุษย์ในแต่ละสังคมและแต่ละยุคสมัยที่มีความแตกต่างกันมากจนทำให้การมีชีวิตอยู่แตกต่างกันไปจนสุดขั้ว หรือคติความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตายของแต่ละสังคมหรือแต่ละบุคคลซึ่งท้ายที่สุดคติความเชื่อเหล่านี้ได้กลายเป็นตัวกำหนดวิถีในการมีชีวิตอยู่ของเขาเหล่านั้นให้ดำเนินไปในทิศทางอันหลากหลายได้อย่างไม่น่าเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นพระเยซูที่ถูกประหารในวัย 34 แต่คำสอนยังคงอยู่ตลอดกาลสมัย พระพุทธเจ้าที่ประกาศการค้นพบสัจธรรมในวัยใกล้เคียงกับพระเยซู คือ 35 และอุทิศช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ให้กับการเผยแผ่คำสอนจนกระทั่งดับขันธ์ปรินิพพานในวัย 80, พาโบล ปีกัสโซผู้ใช้ชีวิตแสนสำราญจนวันสุดท้ายในวัย 90, พระนางมารี อังตัวเนตต์ผู้ใช้ชีวิตหรูหราฟู่ฟ่ามาแต่กำเนิดทว่าประสบทุกข์เข็ญในช่วงท้ายจนกระทั่งถูกประหารด้วยกิโยตินในวัย 37, โจน ออฟ อาร์ค ผู้เป็นฮีโร่ของชาวฝรั่งเศสแต่ถูกจับกุมและเผาทั้งเป็นในวัยเพียงแค่ 19 เท่านั้น มิยาโมโตะ มุซาชิตำนานยอดซามูไรที่จากโลกนี้ไปในวัย 61 โดยปราศจากความพ่ายแพ้ หรือนักเขียนนามอุโฆษอย่างยูกิโอะ มิชิมาที่เลือกวัย 45 เป็นวันตายอย่างแน่วแน่ด้วยการคว้านท้องตัวเองที่ค่ายอิชิกายะในกองกำลังป้องกันประเทศญี่ปุ่น



ที่สุดของที่สุดแล้ว สูตรสุคติพาผู้อ่านให้ใคร่ครวญต่อคำถามต่างๆที่ผู้เขียนไม่ได้ระบุออกมาตรงๆ อย่างเช่น ความตายคืออะไร ตายแล้วไปไหน ตายเมื่อไหร่ ตายอย่างไร ตายเพื่ออะไร ฯลฯ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วผู้คนมักหวาดกลัวต่อความตายและพยายามหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงเรื่องพวกนี้ ในสังคมไทยการพูดถึงความตายในหลายโอกาสเป็นเรื่องไม่สมควรและขัดต่อธรรมเนียมมารยาทเป็นอย่างยิ่งด้วยถือกันว่าการกล่าวถึงเรื่องนี้เป็นเรื่องอัปมงคล กระนั้นก็ตามหากมองอีกแง่หนึ่ง ความพยายามหลีกเลี่ยงการคิดหรือพูดในสิ่งที่รู้อยู่เต็มอกว่ามีอยู่จริงและสักวันย่อมมาถึงในที่สุด ก็อาจมองได้ว่าเป็นการหลีกหนีความจริงแบบหนึ่ง หรือขลาดกลัวที่จะเผชิญหน้ากับสัจธรรมพื้นฐานของชีวิต หรือแม้กระทั่งชักพาให้ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ให้เดินไปด้วยความประมาท




จะว่าไปความตายกับการมีชีวิตอยู่ก็เป็นสิ่งที่อยู่คู่กัน เนื่องเพราะมีชีวิตอยู่จึงมีสิ่งที่เรียกว่าความตาย ด้วยเพราะมีความตายจึงมีสิ่งที่เรียกว่าการมีชีวิตอยู่ กล่าวคือ มโนทัศน์หรือความคิดถึงสิ่งหนึ่งมีอยู่ได้ก็ด้วยการมีอยู่ของอีกสิ่งหนึ่งเท่านั้น มิอาจเลือกที่จะคิดถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียวได้ ดังนั้นการตอบคำถามที่ว่าชีวิตคืออะไรและเรามีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไรจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถตอบคำถามว่าความตายคืออะไรได้ด้วย (ไม่ว่าคำตอบนั้นจะถูกหรือผิดก็ตาม) เพราะฉะนั้น “ความตาย” จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องที่อยู่กับเราตลอดเวลา ความตายอาจไม่ใช่เรื่องอัปมงคลที่พึงหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึง แต่อาจจำเป็นต้องครุ่นคิดใคร่ครวญและมีสติสังวรกับมันเท่าที่จะเป็นไปได้ ด้วยเหตุผลทั้งหลายเหล่านี้จึงทำให้สูตรสุคติ “ไม่ตาย” ไปหลังจากที่อ่านจบ ทั้งๆที่มันกล่าวถึงความตายอยู่ตลอดเวลา และสามารถอ่านให้จบได้ภายในหนึ่งชั่วโมงก็ตาม

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์
twitter @kritkrittapas
instagram @krit_krittapas
Youtube : Krittapas Channel

* บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกใน Bookmoby Review, issue 4 (December 2014)
https://issuu.com/bookmoby/docs/bookmoby_4_published_

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อสรพิษ : ผู้ยอมจำนนคือคนที่ตายแล้ว

ศิลปะเพื่อประชาชนบนโลกเสมือนจริง

ความทรงจำของนายพลนากามูระ – ความทรงจำของข้าพเจ้า