ความทรงจำของนายพลนากามูระ – ความทรงจำของข้าพเจ้า

ความทรงจำของนายพลนากามูระ ความทรงจำของข้าพเจ้า
กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์




หนังสือ “ความทรงจำของนายพลนากามูระ” มีชื่อเต็มๆว่า “ผู้บัญชาการชาวพุทธ ความทรงจำของนายพลนากามูระเกี่ยวกับเมืองไทยสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา” ได้รับการตีพิมพ์ในภาคภาษาไทยครั้งแรกตั้งแต่เมื่อประมาณสิบปีก่อนคือ พ.ศ. 2534 โดยโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ต่อมาสำนักพิมพ์มติชนได้นำมาพิมพ์ซ้ำเมื่อปี 2546 และครั้งล่าสุดคือฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี่เอง (2555) เนื้อหาทั้งหมดของหนังสือคือบันทึกของ “นายพลอาเคโตะ นากามูระ” ผู้ดำรงตำแหน่ง “ผู้บัญชาการกองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทย” ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2486 จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่สองได้สิ้นสุดแล้วท่านก็ยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปอีก รวมเวลาทั้งหมดในหน้าที่ได้สามปีสามเดือน ระหว่างช่วงเวลาดังกล่าวนายพลนากามูระได้บันทึกเรื่องราวต่างๆไว้ค่อนข้างละเอียด แต่น่าเสียดายที่บันทึกนั้นถูกทหารอังกฤษยึดไปหลังสงครามและสูญหายไปในที่สุด หลังจากนั้นอีกหลายปีเขาจึงได้ทำการดึงความทรงจำเหล่านั้นกลับมาใหม่ จนกลายมาเป็นหนังสือเล่มนี้ในที่สุด

บันทึกความทรงจำนี้ได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาญี่ปุ่น ต่อมาศาสตราจารย์ “เออิจิ มูราชิมา” แห่งมหาวิทยาลัยวาเซดะกับ “ศาสตราจารย์นครินทร์ เมฆไตรรัตน์” แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ร่วมมือกันแปลบันทึกนี้เป็นภาษาไทยได้สำเร็จ ซึ่งถือเป็นผลงานที่มีคุณูปการสำคัญครั้งหนึ่งต่อแวดวงวิชาการไทย โครงสร้างของหนังสือประกอบไปด้วยบทต่างๆ 35 บท ซึ่งมีเนื้อหาจบในตอน แต่ขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงต่อกันตามที่เป็นการบอกเล่าจากความทรงจำของบุคคลผู้เดียว การลำดับเรื่องราวโดยส่วนใหญ่จะเรียงตามเวลาจากก่อนไปหลัง แต่ก็ไม่เสมอไป บางครั้งผู้เขียนนึกไปถึงเรื่องราวก่อนหน้านั้น บางทีก็นึกต่อไปไกลจากจุดที่กำลังเล่าอยู่ ฉะนั้น จึงเห็นเหตุการณ์บางเหตุการณ์กระโดดไปกระโดดมาไม่ได้เรียงต่อกันอย่างเป็นระเบียบเสียทีเดียว

หากพิจารณาตามสภาพสถานการณ์ของการปฏิบัติงานของผู้เขียน ก็พอจะทำให้หนังสือเล่มนี้สามารถแบ่งออกได้เป็นสามส่วน หนึ่งคือส่วนที่ผู้เขียนเริ่มต้นการดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการประจำประเทศไทย ซึ่ง ณ ขณะนั้นยังไม่มีทีท่าว่าญี่ปุ่นจะพ่ายแพ้สงคราม สองคือหลังสถานการณ์พลิกผันอันเนื่องมาจากความปราชัยในยุทธนาวีที่มิดเวย์ ตลอดจนสมรภูมิอื่นๆในแปซิฟิค และสามคือเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงอย่างเป็นทางการโดยสมเด็จพระจักรพรรดิทรงประกาศยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไขหลังความสูญเสียยับเยินจากระเบิดปรมาณูทั้งสองลูก ทั้งสามส่วนนี้มีผลสะเทือนอย่างมากต่อสภาวะจิตใจของผู้เขียน จึงทำให้ลักษณะของงานเขียนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญทั้งในส่วนของข้อมูลและสภาพอารมณ์

หนังสือซึ่งมีความยาว 287 หน้าเล่มนี้มีความสำคัญในระดับ “ต้องอ่าน” ในหลายๆมิติ ทั้งยังมีรายละเอียดยิบย่อยที่น่าสนใจจำนวนมากจนไม่สามารถยกมากล่าวในที่นี้ได้หมด โดยทั่วไปแล้วบันทึกนี้ถูกมองจากผู้คนในแวดวงของสาขาวิชาประวัติศาสตร์ว่าเป็นข้อมูลปฐมภูมิที่เป็นประหนึ่งจิ๊กซอว์ที่ช่วยประกอบภาพประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกครั้งที่สองให้ชัดเจนและใกล้เคียงความจริงมากขึ้น ทั้งยังได้เห็นมิติความเป็นมนุษย์ที่มักไม่มีข้อมูลให้ได้อ่านนัก ทั้งของบุคคลสำคัญฝ่ายไทย ญี่ปุ่น และอังกฤษ อย่างเช่น จอมพลเทราอูจิ นายกรัฐมนตรีควง อภัยวงศ์ พล.ต. อีแวนซ์ พล.ท.ฮามาดะ ฯลฯ

นอกจากนั้นข้อมูลบางส่วนเป็นสิ่งที่สนับสนุนคำอธิบายเดิมให้มีน้ำหนักมากกว่าเก่า เช่น ความกระอักกระอ่วนใจของจอมพล ป. พิบูลสงครามในการเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ และการทำสงครามใต้ดินระหว่างฝ่ายญี่ปุ่นกับเสรีไทยภายใต้การนำของบุคคลระดับสูงของทางการไทยอย่างปรีดี พนมยงค์ (ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช (อัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา) พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส (อธิบดีกรมตำรวจ) ซึ่งนายพลนากามูระทราบความเคลื่อนไหวของทั้งสามคนนี้พอสมควร ถึงขนาดที่เรียกทั้งสามว่าเป็น “ดาวหางใหญ่สามดวงของประเทศไทย”

ขณะที่บางส่วนก็ไปโต้แย้งความเชื่อและคำอธิบายเดิม เช่น มิตรภาพและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลสามคนคือนายพลนากามูระ ยามาโมโตะ (เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย) และนายกฯควง อภัยวงศ์ ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่น มีการจัดเลี้ยงเพื่อพบปะสนทนากันในวันที่ 10 ของทุกเดือน ความประทับใจในปูชนียสถานและการให้ความสำคัญแก่วัฒนธรรมไทยของนายพลโตโจ อันมีผลให้ญี่ปุ่นส่งเครื่องบินรบฮายาบูซ่า 21 ลำมาให้กองทัพไทย หรือข้อเท็จจริงของพ.อ. มาซาโนบุ ทสุจิ เสนาธิการผู้มีภาพลักษณ์ราวปีศาจร้ายในงานของชาวตะวันตก เช่นที่ปรากฏในหนังสือ “แหกค่ายนรกบาตาน” (Ghost Soldiers) ของ Hampton Sides ว่าอันที่จริงแล้วเขาอาจไม่ใช่ปีศาจร้ายที่ปราศจากหัวใจอย่างที่ฝ่ายสัมพันธมิตรคิด




อย่างไรก็ตาม การที่หนังสือเล่มนี้ได้รับการพูดถึงในมิติของความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียวก็ทำให้ผู้อ่านจำนวนมากที่ไม่ใคร่สนใจเรื่องราวทางประวัติศาสตร์นักต้องพลาดการอ่านหนังสือเล่มนี้ไปอย่างน่าเสียดาย อันที่จริงหนังสือเล่มนี้เป็นมากกว่าบันทึกข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ในสายตาข้าพเจ้า(และเชื่อว่าคนอื่นๆก็เช่นกัน)มองหนังสือเล่มนี้เป็นงานเขียนประเภทอื่นด้วย อาจเรียกได้ว่านี่คือวรรณกรรมชิ้นหนึ่งอันมีวรรณศิลป์สวยงาม มีเลือดเนื้อ มีชีวิตจิตใจ และมีหลายครั้งที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกหวั่นไหวอยู่ลึกๆราวกับกำลังอ่านนวนิยายที่น่าสะเทือนใจเรื่องหนึ่งซึ่งเห็นความยอกย้อนของชะตาชีวิต เห็นมิตรภาพ ความกตัญญู ความผูกพัน การพบเจอ การจากพราก ความเศร้าโศก ความเปราะบาง การต่อสู้ ฯลฯ ตัวอย่างเช่น การไว้ชีวิตเด็กชายชายแซ่ลี้(หน้า 157-158) การรอดชีวิตอย่างปาฏิหาริย์ของทหารคนหนึ่งจากเหตุการณ์เครื่องบินตกที่ชายแดนไทย-พม่า(หน้า 31-33) ความรับผิดชอบของพล.ท. ฮามาดะ ความขันขื่นของชีวิตนักรบ(นายพลเพอร์ซิวาลกับนายพลยามาชิตะ) ความผูกพันระหว่างคนกับม้า(นายพลนากามูระกับซูอิโต) มิตรภาพระหว่างศัตรู(นากามูระกับ พ.ท. เกรย์) ภาพที่ดูขัดกับท่วงท่านักรบของคณะละครท็อปปะซาในการควบคุมของร้อยโทโยชิมูระ ละครชีวิตของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ความอาลัยอาวรณ์ที่นากามูระมีต่อโตโจ เป็นต้น

ตัวอย่างที่น่าประทับใจตอนหนึ่งในหนังสือก็คือความซาบซึ้งของนากามูระที่มีต่อน้ำใจคนไทยซึ่งปรากฏอยู่ในบทที่ 26 “ไมตรีจิตจากคนไทยหลังแพ้สงคราม” หน้า 200 เรื่อง “คุณยายผู้ให้กล้วย” ในตอนนี้นากามูระได้ย้อนระลึกไปถึงเหตุการณ์ที่นายกฯควง อภัยวงศ์จัดงานเลี้ยงอำลาให้กับชาวญี่ปุ่นในประเทศไทย เขาเขียนไว้ในหนังสือว่า “มีความทรงจำที่ข้าพเจ้าลืมไม่ได้ตลอดชีวิตนี้อยู่เรื่องหนึ่ง... ในงานเลี้ยงวันนั้น นายกฯควง อภัยวงศ์ได้กล่าวสุนทรพจน์มีใจความว่า รู้สึกเห็นใจอย่างลึกซึ้งในการพ่ายแพ้ครั้งนี้ และหวังอย่างจริงใจว่าจะมีการฟื้นฟูชาติโดยเร็ว พวกข้าพเจ้ารับฟังคำกล่าวนั้นอย่างมีความประทับใจจากส่วนลึกของจิตใจ ข้าพเจ้าทราบว่าความสัมพันธไมตรีอย่างแท้จริงนั้นเป็นแสงสว่างที่ไม่เกี่ยวกับการแพ้ชนะ... ในช่วงหลังสงคราม ผู้หญิงชราขายกล้วยได้ใส่กล้วยให้ในย่ามของทหารญี่ปุ่นผู้ซึ่งอิดโรยในตอนเดินทางกลับจากการถูกเกณฑ์แรงงานโดยที่ไม่เสียดายสินค้าที่สามารถขายได้ในวันนั้นเลย... เรื่องแบบนี้มีให้เห็นเกือบทุกวัน”

ยิ่งกว่านั้น ข้าพเจ้าเชื่อว่าคติธรรมประจำใจหลายอย่างตามวิถีบูชิโดสามารถสะกิดมโนสำนึกในใจผู้อ่านได้ไม่ยาก และนั่นก็ทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นอะไรที่มากกว่าบันทึกข้อมูลทางประวัติศาสตร์ สำนึกความรับผิดชอบที่ปรากฏอยู่มากในเล่มกระทุ้งเตือนจิตสำนึกผู้อ่านได้ไม่น้อย เช่นในหน้า 196 นากามูระยกคำสอนของบูชิโดที่ว่า “อย่าแพ้อย่างน่าเกลียด และเมื่อเป็นนกที่จะบินขึ้นจากน้ำก็ต้องพยายามทำน้ำไม่ให้ขุ่น” อันหมายถึงความรับผิดชอบในการยอมรับความพ่ายแพ้อย่างองอาจ การคืนทุกสิ่งทุกอย่างให้กลับสู่สภาพปกติโดยไม่ปล่อยทิ้งไว้เป็นภาระของผู้อื่น และจัดการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาหนึ่งแสนห้าหมื่นคนได้เดินทางกลับคืนเรือนโดยสวัสดิภาพ

มิตรสหายบางท่านเปรยกับข้าพเจ้าว่าไม่มีความสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ พวกเขามองว่าเป็นเรื่องไกลตัวที่หามีความเกี่ยวพันอันใดกับชีวิตของเขาไม่ ดังนั้นจึงไม่มีเหตุจำเป็นที่ต้องอ่านงานทำนองนี้ แต่ข้าพเจ้าไม่ใคร่จะเห็นด้วยกับความคิดดังกล่าวนัก ตรงกันข้าม ข้าพเจ้าเห็นว่าประวัติศาสตร์เกี่ยวพันกับเราโดยตรงและไม่ได้เป็นสิ่งที่ไกลตัวอย่างที่หลายๆคนคิด

เมื่อครั้งยังเยาว์วัย ข้าพเจ้ามีความทรงจำสองอย่างซึ่งดูเหมือนจะไม่มีความเกี่ยวพันกันเลย แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายสิบปีข้าพเจ้าก็พบว่าสองอย่างนี้มีความเกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้ง เรื่องแรกคือประสบการณ์ชีวิตที่พระตะบองของปู่ซึ่งปัจจุบันท่านได้ล่วงลับไปแล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ออกจะดูน่าพิศวงอยู่เหมือนกัน ปู่เคยเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่าสมัยหนุ่มๆก่อนที่ท่านจะเข้ามารับราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทยนั้นท่านได้เคยเป็นทหารมาก่อนโดยมีพื้นที่ปฏิบัติราชการอยู่ในพระตะบอง ซึ่ง ณ ขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลบูรพาแห่งราชอาณาจักรสยามตามที่ไทยได้ทำการรบกับฝรั่งเศสและท้ายที่สุดจึงได้เสียมราฐ พระตะบอง ศรีโสภณ ของฝรั่งเศส รวมทั้งหลวงพระบางและจำปาศักดิ์มาอยู่ในอาณัติ ภายใต้การเจรจาไกล่เกลี่ยของญี่ปุ่นตามอนุสัญญาโตเกียว เมื่อปี 2484 ช่วงเวลาเดียวกันนั้น ในภาพใหญ่โลกกำลังปั่นป่วนไปด้วยการห้ำหั่นกันระหว่างประเทศ ภาพเล็กลงมาบังเกิดความพลิกผันทางการเมืองในระดับรัฐ ยังผลให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจากจอมพล ป. พิบูลสงครามมาสู่หนุ่มใหญ่จากตระกูลเก่าแก่ที่บริหารราชการเมืองพระตะบองมาอย่างยาวนานนาม “ควง อภัยวงศ์” ในระดับที่เล็กที่สุด ทหารหนุ่มผู้หนึ่ง(ปู่ของข้าพเจ้า)กำลังโลดโผนผจญภัยตามคำสั่งของกองทัพไทยอยู่ต่างที่ต่างถิ่นอันเป็นดินแดนที่รัฐเพิ่งผนวกเข้ามาใหม่ ปฏิเสธไม่ได้ว่าชะตาชีวิตเหล่านี้เป็นผลสืบเนื่องตามเหตุและปัจจัยต่างๆที่ข้องเกี่ยวกันมาเป็นลำดับ

ต่อมาเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงโดยฝ่ายอักษะเป็นผู้ปราชัย ไทยได้กลับท่าทีมาทางฝ่ายสัมพันธมิตรและแก้ไขสถานการณ์ที่กำลังตกมาเป็นผู้พ่ายแพ้ไปได้อย่างหวุดหวิด ผลจากความผันผวนของสงครามและการเมืองทำให้ไทยต้องคืนดินแดนที่ได้มาทั้งหมดในระหว่างสงครามกลับไปที่เจ้าอาณานิคมตามเดิม และนั่นทำให้ปู่ต้องเดินทางกลับบ้านโดยรถไฟ จริงๆแล้วบ้านของท่านอยู่ที่ชัยภูมิ แต่ด้วยเหตุที่ต้องกลับมารายงานตัวกับต้นสังกัดที่นครราชสีมา จึงทำให้ปู่มาเจอกับย่าโดยบังเอิญ กระทั่งครองรักกันในที่สุด กล่าวได้ว่าหากไม่มีสงครามโลก ไม่มีกองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทย ไม่มีจอมพล ป. พิบูลสงครามกับนายควง อภัยวงศ์เป็นนายกรัฐมนตรี ก็คงไม่มีพ่อของข้าพเจ้า และย่อมไม่มีข้าพเจ้าถือกำเนิดขึ้นด้วย

ความทรงจำเรื่องที่สองก็คือ การสถาปนาอนุสาวรีย์จอมพล ป.พิบูลสงครามขึ้นที่ละแวกบ้านของข้าพเจ้าในอำเภอพระพุทธบาท จ.สระบุรี เหตุการณ์นั้นทำให้ข้าพเจ้าเกิดการตั้งคำถามครั้งใหญ่ถึงที่มาที่ไปของโลกรอบตัว ความสงสัยที่ว่าบุคคลผู้นี้เกี่ยวพันกับบ้านของข้าพเจ้าอย่างไร นำไปสู่ชุดคำถามจำนวนมากที่ทุกวันนี้ก็ยังตอบตัวเองได้ไม่หมด ระหว่างทางของการหาคำตอบ ข้าพเจ้าได้ทราบว่าเมืองพระพุทธบาทกว่าครึ่งค่อนก่อกำเนิดขึ้นตามดำริของจอมพล ป. (นิคมสร้างตนเองพระพุทธบาท) ชื่อของโรงเรียนที่เคยไปศึกษาในช่วงมัธยมปลายก็มาจากชื่อของจอมพล ป. (พิบูลวิทยาลัย จ.ลพบุรี) ชื่อโรงภาพยนตร์ที่สะกดชื่อพิลึกว่า “ภาพยนต์ทหานบก” ก็เนื่องจากเป็นภาษาไทยตามแบบที่ใช้กันในสมัยจอมพล ป. เป็นนายกฯ ฯลฯ ข้อเท็จจริงสารพัดสารพันที่ได้พบเจอทำให้เห็นว่ามรดกของชายผู้นี้มีอยู่มากกว่าที่คนทั่วไปคิดและอยู่รอบตัวเต็มไปหมด การทำความเข้าใจบุคคลผู้มีประวัติอันน่าตื่นตะลึง เจ้าของสมญานาม “แมวเก้าชีวิต” “นายกตลอดกาล” จอมพลกระดูกเหล็ก” ฯลฯ เช่นนี้ไม่ง่ายเลย แต่ภาพที่ดูยุ่งเหยิงซับซ้อนจะกระจ่างขึ้น เห็นมิติอื่นของความเป็นมนุษย์มากขึ้นเมื่อได้อ่านข้อมูลหลายส่วนจากหนังสือบันทึกความทรงจำเล่มนี้

มีความทรงจำมากมายในชีวิตที่เมื่อเราสืบค้นที่มาที่ไปแล้ว ก็ทำให้เกิดความน่าฉงนของสายใยระโยงระยางอันพันรัดบุคคลที่ดูเหมือนไม่มีวันเกี่ยวข้องให้กลายมาเป็นผู้เกี่ยวข้องซึ่งกันและกันได้ ชะตากรรมของบุคคลผู้หนึ่งได้ก่อผลสะเทือนสู่ชะตากรรมของบุคคลอีกผู้หนึ่งแม้ว่าบุคคลทั้งสองจะไม่เคยพบหน้าค่าตากันเลยก็ตาม มองในแง่นี้ประวัติศาสตร์ก็ไม่ใช่เรื่องอื่นไกลแต่คือเรื่องของทุกคนบนโลกกว้างที่ย่อมเกี่ยวพันกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หรือไม่วันใดก็วันหนึ่ง อันมีผลให้เกิดบางอย่างกับชีวิตนั้นๆและนำไปสู่พฤติกรรมมากมายที่กระทบกันไปเป็นลูกโซ่ กล่าวให้ง่ายก็คือประวัติศาสตร์และชีวิตผู้คนนั้นไม่เคยแยกขาดจากกันเลย แต่ประวัติศาสตร์คือการตัดตอนฉากหนึ่งของชีวิตทั้งมวลออกมาเป็นส่วนๆ ทว่าจะเข้าใจแต่ละส่วนได้ก็โดยอาศัยการเชื่อมโยงไปสู่ส่วนอื่นเสมอ การทำความเข้าใจนากามูระก็โดยผ่านข้อมูลบางส่วนของจอมพล ป. เข้าใจจอมพล ป. ก็ด้วยเข้าใจนากามูระ ส่วนต่างๆจะร้อยเรียงต่อกันกระทั่งไปสู่ควง อภัยวงศ์ สู่ปู่ของข้าพเจ้า และสู่ตัวข้าพเจ้าเองในที่สุด ด้วยเหตุนี้ความพยายามเข้าใจภาพใหญ่ของประวัติศาสตร์ก็คือการเข้าสู่ความเข้าใจในภาพเล็ก เข้าใจภาพเล็กก็เข้าใจภาพใหญ่ เข้าใจโลกเพื่อเข้าใจชีวิต เข้าใจชีวิตทำให้เข้าใจโลก ดังนั้น ทั้งหมดนี้จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องใกล้ตัว หรือจะกล่าวให้ชัดกว่านี้คือมันเป็นเรื่องเดียวกัน เสมือนช้างตัวหนึ่งมิอาจแยกขาดจากผืนป่าที่มันอาศัยอยู่ ส่วนถ้าใครจะมองไม่เห็นความสัมพันธ์นี้ ก็ไม่ใช่เพราะมันไม่มีอยู่ เพียงแต่อาจเป็นเพราะว่า
เขาไม่เคยครุ่นคิดถึงความเป็นไปของมันเลยต่างหาก

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์
Krittapas Sakdidtanon
krit.bloomingtonbook@gmail.com
instagram : krit_krittapas
twitter : @kritkrittapas
Youtube: Krittapas Channel


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อสรพิษ : ผู้ยอมจำนนคือคนที่ตายแล้ว

ศิลปะเพื่อประชาชนบนโลกเสมือนจริง